ทำอย่างไรกับลูกน้องใจร้อน

ดร.สุรชัย โฆษิตบวรชัย

ทำไมพนักงานขายส่วนใหญ่ทำงานไม่ทัน หมายถึงไม่สามารถไปเยี่ยมลูกค้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ พอถูกถาม ก็มีเหตุผลมากมายที่จะอธิบายถึงสาเหตุว่าตนเองนั้นทำงานไม่ทัน และเป็นอย่างนั้นทุกเดือน เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่น่าปวดเศียรพอสมควรสำหรับผู้ที่ต้องมาคุมทีมขาย  หรือแม้กระทั่งตัวนักขายเองที่มีความมุ่งหวังที่จะทำให้ทะลุเป้าขายเช่นกัน ก็ไม่สามารถทำได้เพราะ(คิด)ว่าตนเองนั้นไม่มีเวลาพอ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่หลายคนต้องพลาดโอกาสในการขาย ทั้งที่บางครั้งนั้นมียอดการซื้อที่สูง แต่ตนเองนั้นก็ไม่สามารถที่จะปิดการขายได้ เพราะเวลาที่ให้กับงานนั้นน้อยเกินไป จึงอยากให้กลับมาพิจารณาถึงแก่นแท้ของการทำงานก่อนว่าตนเองนั้นใช้เวลามีความเหมาะสมหรือไม่ ถ้าจะวิเคราะห์ถึงปัญหาของผู้ที่ทำงานขายนั้นส่วนใหญ่มาจากการไม่ได้มีการวางแผนด้านเวลา หรือที่เรียกว่าการบริหารเวลา(Time Management) นั่นเอง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะผู้ที่ทำงานขายส่วนหนึ่งนั้น มุ่งเน้นที่เป้าหมายการขายมากเกินไป หรือมุ่งเน้นไปที่งานใดงานหนึ่ง จนทำให้ลืมการจัดสรรเวลาให้เหมาะสม ผลที่ตามมาคือไม่ได้ผลดีสักอย่าง หมายถึงเป้าหมายที่ตั้งใจก็ไม่ได้ แถมยังเสียเวลาไปเปล่า ๆ กับกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดยอดขายอีกเป็นต้น สำหรับเทคนิคหรือวิธีการที่ถูกนำมาใช้ เมื่อมีปัญหาเช่นนี้คือการใช้เทคนิคการบริหารเวลาให้มีความเหมาะสมกับกิจกรรมของตนเอง รวมกับการมีวินัยในการทำงาน เพราะถึงแม้จะมีความเข้าใจในการบริหารเวลาอย่างไร ก็ไม่มีประโยชน์ถ้าไม่มีวินัยในการปฏิบัติ  สำหรับหลักวิธีการบริหารเวลานั้นประกอบไปด้วยหลัก การจัดทำตารางเวลา เป็นที่น่าประหลาดใจไม่น้อยสำหรับผู้ที่ทำงานขาย เพราะตารางเวลาน่าจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสำหรับผู้ที่ทำงานขาย แต่มีนักขายจำนวนมากที่ไม่รู้จักตารางเวลา และใช้วิธีการจดจำถึงการทำงานหรือการนัดหมายกับลูกค้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ผู้ขายนั้นไม่สามารถที่จะวิเคราะห์งานของตนเองออกได้ทั้งหมด จะมองเห็นก็เพียงแต่งานในส่วนที่มีการนัดหมายเท่านั้น จึงทำให้น่าเสียดายว่าเวลาส่วนที่เหลือ ก็สูญเปล่าโดยไม่เกิดมูลค่าเพิ่มใด ๆ ขึ้นมา การจัดทำตารางเวลา ก็ทำให้ง่ายเข้าไว้ มีการเขียนเวลาในแต่ละช่วงของวันนั้น เช่น 7.00 น. ถึง 8.00 น. ทำกิจกรรมอะไร 8.00 น. ถึง 9.00 น. ทำกิจกรรมอะไร เขียนเช่นนี้จนถึงเวลาเย็นหรือค่ำมืดเลยก็ได้ การลงรายละเอียดงานหรือกิจกรรมของตนเองให้มากที่สุด จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญทำให้เราทราบว่า งานที่เราทำนั้นมีประสิทธิ์ภาพมากน้อยเพียงใด หลักคือต้องขจัดเรื่องที่ไม่มีประสิทธิภาพออกให้หมดไป สำหรับงานที่ไม่มีผลต่อการทำงานขายนั้น อาจยกตัวอย่างได้ง่ายๆ เช่นการเดินทางไปหาลูกค้า การจัดเส้นทางเดินให้มีประสิทธิภาพ เพราะพนักงานขายบางคนนั้นสามารถที่จะไปเยี่ยมลูกค้าได้ครั้งละหลาย ๆ ราย  ทำให้มีโอกาสต่อการเพิ่มยอดขายเพิ่มมากขึ้น เมื่อการจัดทำตารางเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือการทดสอบการทำงานตามตารางที่ได้จัดไว้ เริ่มพิจารณาว่าอะไรคือเรื่องที่สำคัญ อะไรคือเรื่องที่ไม่สำคัญ นำมาวางลงในตาราง ทำให้เห็นถึงภาพว่า ควรทำอะไร ก่อนหลังในงานของวันนั้น ๆ ทำให้งานมีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลออกมา ซึ่งก็แต่แตกต่างจากผู้ขายบางคนที่ยังวังวนกับการทำงาน ซ้ำไปซ้ำมา ทำให้ ไปเยี่ยมลูกค้าได้น้อยลง เป็นเช่นนี้มานาน ไม่เคยคิดจะปรับปรุงแก้ไข มีแต่บ่นอยู่ตลอดเวลา ว่ายอดขายสูง ทุกปี และอ้างนู่น อ้างนี่ ว่าทำไม่ได้ โดยไม่เคยบ่นกับตัวเองว่าใช้เวลาไปกับเรื่องที่ไม่เกิดสาระมากมาย เฮ่อ! ตูละเบื่อ…